วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สมุนไพรดีๆที่ควรใช้ในหน้าหนาว

ฤดูหนาวรับประทานอะไรดี
สำหรับการรับประทานอาหารในช่วงฤดูหนาว เราควรเลือกรับประทานอาหารที่ร้อนและปรุงเสร็จใหม่ๆ ควรมีรสเปรี้ยวอมขมเล็กน้อย และรสเผ็ด เช่น แกงส้มดอกแค แกงขี้เหล็ก แกงป่า สะเดาน้ำปลาหวาน และน้ำพริก เพราะธรรมชาติจะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพรในฤดูต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน ในฤดูหนาว มักจะมีสมุนไพรพื้นบ้าน เช่น สะเดา ซึ่งมีรสขม เมื่อกินแล้วจะช่วยแก้ไข้ ทำให้เจริญอาหาร ขี้เหล็กมีสรรพคุณช่วยระบาย ดอกแคแก้ไข้หัวลม ซึ่งเราควรเลือกรับประทานผักพื้นบ้านที่มีอยู่ตามฤดูกาล ส่วนการเลือกเครื่องดื่มในช่วงหน้าหนาวนี้ ควรจะเป็นเครื่องดื่มร้อนๆ เช่น น้ำขิง ชาสมุนไพร เพื่อช่วยให้ชุ่มคอ ลดอาการไอ แก้หวัด ซึ่งป้องกันการเป็นหวัดในช่วงนี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

หน้าหนาวควรดูแลร่างกายอย่างไร
ด้วยอากาศที่หนาวเย็น เราควรอาบน้ำด้วยน้ำอุ่นและเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่หนา แต่บางครั้งการอาบน้ำอุ่นจะทำให้ผิวแห้งง่ายกว่าอาบน้ำเย็น เพราะน้ำมันที่ผิวหนังจะถูกชะล้างออกไป รวมทั้งความชื้นของอากาศที่ลดลง ก็จะเพิ่มให้ผิวแห้งแตกและคันได้ง่าย ดังนั้น สาวๆ ควรจะดูแลร่างกายในช่วงหน้าหนาวนี้เป็นพิเศษ โดยสามารถนำเอาสมุนไพรพื้นบ้านมาประยุกต์ใช้ดูแลผิวพรรณ อย่าง น้ำมันงา ขมิ้นชัน ผิวมะนาว และผิวมะกรูด

สมุนไพรดูแลผิวพรรณ
- น้ำมันงา นำงาดิบประมาณ 1 ถ้วย โขลกให้ละเอียด บีบเอาน้ำมันจากงาเก็บไว้ในขวด ทาผิวตอนเช้าและก่อนนอน น้ำมันงาจะช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ลดอาการแห้งแตกและคัน - ขมิ้นชัน มีสรรพคุณช่วยลดอาการคันและช่วยลดอาการผดผื่นตามผิวหนัง เพียงนำขมิ้นชันสดมาล้างให้สะอาด โขลกให้ละเอียด บีบน้ำที่ได้นำมาทาผิว หลังอาบน้ำเช้า-เย็น แต่อาจจะมีสีของขมิ้นติดตามเสื้อผ้าที่สวมใส่ - ผิวมะกรูด น้ำมันที่ผิวของมะนาวและมะกรูด จะช่วยเคลือบผิว ให้ชุ่มชื้น ลดอาการคัน ลดการอักเสบ โดยนำมะนาวที่ใช้แล้ว ส่วนบริเวณผิวด้านนอกของมะนาว มาทาผิวบริเวณที่แห้งคัน เช้า-เย็น

การดูแลสุขภาพด้วยการอาบสมุนไพร
การอาบน้ำอุ่นในฤดูหนาวจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น เพราะในฤดูหนาว คนส่วนใหญ่มักจะเป็นหวัด คัดจมูก และคันตามผิวหนัง ซึ่งหากนำสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการคัน มาต้มอาบแทนน้ำเปล่า ก็จะช่วยบรรเทาอาการคันได้ดี สมุนไพร ที่หาได้ง่าย ที่ควรนำมาต้มมีดังนี้
• ยอดผักบุ้ง จำนวน 5 ยอด ใช้รักษาอาการคัน
• ใบมะกรูด จำนวน 3-5 ใบ แก้วิงเวียน ช่วยให้หายใจสบาย
• ใบมะขาม/ใบส้มป่อย 1 กำมือ แก้อาการคันตามร่างกาย ช่วยให้ผิวหนังสะอาด
• ต้นตะไคร้ จำนวน 3 ต้น บำรุงธาตุไฟ
• หัวไพล จำนวน 2-3 หัว ลดอาการอักเสบ ปวด บวม
• ใบหนาด จำนวน 3-5 ใบ ช่วยบำรุง แก้โรคผิวหนัง น้ำเหลือง
• หัวขมิ้นชัน จำนวน 2-3 หัว ช่วยสมานแผล แก้คันตามผิวหนัง
• การบูร จำนวน 15 กรัม ช่วยบำรุงหัวใจ
• หัวหอมแดง จำนวน 3-5 หัว แก้หวัดคัดจมูก

เพียงนำสมุนไพรทั้งหมดมาต้มรวมกัน ผสมน้ำเย็นให้พออุ่น แล้วนำมาอาบ สรรพคุณของสมุนไพรก็จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ลดอาการคันตามผิวหนัง ช่วยให้หายใจโล่ง ก็จะรู้สึกสบายตัว ไม่ต้องกังวลกับฤดูหนาวแล้ว

ที่มา จากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์http://blog.eduzones.com/racchachoengsao/12940

ระวังโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ในหน้าหนาว

นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนังและภูมิแพ้ผิวหนัง เปิดเผยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนว่า ช่วงเปลี่ยนฤดูสู่หน้าหนาวนั้น พบโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้กำเริบได้บ่อย โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังไม่ใช่โรคติดต่อ ที่มักเริ่มพบในวัยเด็ก ร้อยละ 70 พบประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่นประวัติว่าพ่อแม่เป็นหืดหอบ ลมพิษ หรือน้ำมูกไหลเพราะแพ้อากาศ แบ่งลักษณะเป็น 3 ช่วงอายุ คือ ช่วงวัยทารก มักพบเป็นผื่นที่แก้มหรือบริเวณอื่นของใบหน้า หรือตามด้านนอกของแขนขา ลำตัว ช่วงวัยเด็ก ผื่นมักเป็นตามข้อพับแขนขา ผื่นจะแดงหนา อาจคันรุนแรงมาก ช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ มักคันมาก และอาการคันมักกำเริบตอนกลางคืน ผื่นมักเป็นตามข้อพับแขนขา ใบหน้า หัวไหล่

นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร เปิดเผยต่อว่า ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ไม่ควรใช้สบู่มาก ไม่ควรนอนแช่ในอ่างอาบน้ำ ไม่ควรอาบน้ำร้อนจัด การเช็ดตัวให้ใช้วิธีซับไม่ควรเช็ดหรือถูแรงๆ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ที่หนา ควรใส่เสื้อผ้าฝ้ายทอโปร่งๆ ให้พยายามระงับสติอารมณ์ไว้ อย่าเครียด อย่าเกาบริเวณที่คัน ไม่ควรเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่มีขน ขณะนี้กำลังมีข่าวว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาคือโอบามา กำลังหาสุนัขประจำทำเนียบ แต่ต้องเป็นพันธุ์ที่ไม่กระตุ้นโรคภูมิแพ้ เพราะลูกสาววัยสิบขวบเป็นโรคภูมิแพ้

เรื่องนี้สมาคมแพทย์โรคภูมิแพ้อเมริกัน (American Academy of Allergy, Asthma & Immunology) แสดงความเห็นว่า ไม่มีสุนัขพันธุ์ใดที่ไม่กระตุ้นโรคภูมิแพ้ ความเข้าใจที่ว่าโรคภูมิแพ้เกิดจากขนสุนัขนั้นผิด ที่จริงสารก่อภูมิแพ้ในสุนัขนั้นคือโปรตีนที่อยู่ในเศษขี้ไคล น้ำลายและฉี่ ซึ่งสุนัขทุกตัวมีโปรตีนเหล่านี้ ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่ต้องการเลี้ยงสุนัขจริงๆ อาจต้องปรึกษาแพทย์ และไม่ควรให้สุนัขเข้าห้องนอน ควรอาบน้ำให้สุนัขทุกสัปดาห์ ไม่ควรใช้พรมปูพื้นเพราะทำความสะอาดยาก

นพ.ประวิตร กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังภูมิแพ้และผู้ปกครองเด็กต้องพยายามเข้าใจว่า แม้ว่าโรคนี้จะก่อให้เกิดความน่ารำคาญเพียงใดก็ตาม โรคนี้ก็ไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิต จึงควรยอมรับสภาพความเป็นจริงที่จะมีชีวิตอยู่กับโรคนี้ให้ได้

ที่มา : www.sanook.com

โรคของหนุ่มสาวออฟฟิศพึงระวัง

หมอนรองกระดูก, เอ็นยึดระหว่างกระดูก, เส้นประสาทและกล้ามเนื้อ อาการปวดคอเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนทํางานจากกิจวัตรประจําวันและการทํางานทําให้มีการเคลื่อนไหวในส่วนของคอมาก อาจทําให้มีอาการปวดคอ ซึ่งถ้าดูแลรักษาและปฏิบัติตนไม่ถูกวิธีจะทําให้อาการปวดคอรุนแรงมากขึ้น

สาเหตุของการปวดคอ...
1.กระดูกต้นคอเสื่อมเป็นผลจากอายุที่เพิ่มขึ้นและการใช้งานหนักในบางอาชีพ
2. การบาดเจ็บที่บริเวณคอ เช่น กระดูกคอหัก, หมอนรองกระดูกเคลื่อน, เอ็นและกล้ามเนื้อรอบข้อต่ออักเสบ3. จากการอักเสบในผู้ป่วยโรคข้อ เช่น รูมาตอยด์
4.อิริยาบถที่ผิดสุขลักษณะ

อาการที่พบ....
- มีอาการปวดตื้อๆ ที่ศีรษะหรือท้ายทอย
- ปวดคออาจร่วมกับมีอาการปวดร้าวลงบ่า หัวไหล่ แขน สะบัก
- มีอาการชาที่แขนหรือนิ้วมือ และอาจพบอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนร่วมด้วย
- คอเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าปกติ และมีอาการเจ็บร่วมด้วย
- บางครั้งอาจพบจุดกดเจ็บที่กล้ามเนื้อต้นคอและบ่า

การรักษา....
1.การรักษาทางยาเพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด
2.การรักษาทางกายภาพบําบัดใช้ร่วมกับการรักษาทางยา
2.1 การประคบด้วยความร้อนหรือเย็นบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอที่ปวด
2.2 การรักษาโดยใช้เครื่องมือที่ทําให้เกิดความร้อนลึก เช่น ultrasound, shortwave diathermy
2.3 การดึงคอ เพื่อลดการกดทับของเส้นประสาทคอ และลดอาการเกร็งของต้นคอ
2.4 การบริหารคออย่างถูกวิธีและเหมาะสมกับสภาพของอาการที่เป็นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ
2.5 การใช้เครื่องมือทางกายภาพบําบัดแต่ละชนิดพิจารณาจากสาเหตุและความรุนแรงของอาการปวดคอ

3.การผ่าตัด เมื่อรักษาทางยา และกายภาพบําบัดไม่ได้ผล หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทําให้เกิดอาการปวดคอ เช่น ไม่นอนหมอนสูงเกินไป, ไม่สะบัดคอแรงๆ เพื่อแก้ความเมื่อย, ไม่เกร็งคอทํางานในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ, จัดอุปกรณ์ในการทํางานเช่น โต๊ะ, เก้าอี้, computer ให้เหมาะสมกับลักษณะรูปร่างของคนทํางานไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป

[ ที่มา ]
ข้อมูลจาก Group :: CITYLIFE :: www.daradaily.com เว็บแรกสู่โลกดารา

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วิธีดูแลรักษาสุขภาพแบบง่ายๆ

เรื่องสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม

1. การดื่มน้ำปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็วอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำเป็นพิษ เนื่องจากเลือดเจือจาง ร่างกายจึงขับโปแตสเซียมออกจากเซลล์เพื่อปรับสมดุลระหว่างน้ำในเซลล์และนอกเซลล์ ผลที่ตามมาคือเป็นตะคริว กล้ามเนื้อเกร็ง หากเกิดอาการเกร็งที่สมอง หัวใจ หรือปอด จะทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ แต่ไม่ต้องกังวลจนเกินไป เพราะหากดื่มน้ำทีละเล็กทีละน้อย แม้ดื่มมากกว่าปกติก็ไม่เป็นอันตรายเพราะไตจะขับออกมาเป็นปัสสาวะ และถ้าเมื่อไรมีอาการจุกนั่นแสดงว่าดื่มน้ำมากไป ควรหยุดได้แล้ว

2. การปล่อยให้ตนเองหิวอาจนำไปสู่โรคร้าย เพราะความหิวกระตุ้นร่างกายให้หลั่งฮอร์โมนความเครียด ซึ่งหากเกิดขึ้นเป็นประจำจะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจหรือเบาหวานได้ ลองควบคุมความหิวด้วยการแบ่งมื้ออาหารจากวันละ 3 มื้อเป็นมื้อเล็กๆ 5-6 มื้อต่อวัน

3. ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนไม่เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดหลัง เพราะคาเฟอีนลดการหลั่งสารเอนโดรฟีนซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่ร่างกายผลิตขึ้นและมีฤทธิ์ลดอาการปวดตามอวัยวะต่างๆ

4. วิธีง่ายๆในการดูแลสุขภาพคือ หลังจากตื่นนอนทุกเช้า จะดื่มน้ำส้มสายชูที่หมักจากผลแอ๊ปเปิ้ล ผสมกับน้ำผึ้งอย่างละ 1 : 1 ใส่น้ำอุ่นคนให้เข้ากันแล้วค่อยเติมน้ำแข็งลงไปเพื่อให้ทานง่ายและมีรสชาติดีขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะไปช่วยการดูดซึมของระบบลำไส้ และการเผาผลาญของร่างกาย แต่โรคบางโรคอาจเกิดจากสุขภาพจิตที่อ่อนแอ ในหนึ่งอาทิตย์จึงควรจะมีวันพักผ่อนอย่างจริงจังหรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น เล่นโยคะ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพกายและลดมลภาวะทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน

5. การนอนดึกคืนวันศุกร์-เสาร์แล้วตื่นสายในวันเสาร์-อาทิตย์ ทำให้นาฬิกาชีวภาพของร่างกายตั้งเวลาตื่นใหม่ เมื่อถึงวันจันทร์จึงมีอาการอิดเอื้อนไม่อยากตื่น ทั้งยังทำให้ขาดสมาธิในการทำงานหรือเรียนหนังสืออีกด้วย

6. แสงแดดยามเช้าไม่ได้ช่วยให้กระดูกแข็งแรงเท่านั้น แต่การออกกำลังกายกลางแดดในช่วงเวลาดังกล่าวยังช่วยให้ร่างกายผลิตสารเอนโดรฟีน ซึ่งเป็นสารต่อต้านอาการซึมเศร้าตามธรรมชาติอีกด้วย

7. ความเครียดเป็นตัวการทำลายผิวที่ร้ายแรงที่สุด ฉะนั้นเราต้องปรับความคิดใหม่ และใช้ร่างกายเราอย่างทะนุถนอมตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะสม หาเวลาออกกำลังกายบ้าง และรับประทานอาหารดีๆ

8. แอ๊ปเปิ้ล แตงโม กล้วย กีวี มีประโยชน์ แต่ถ้าคุณรับประทานยาปฏิชีวนะอยู่ควรหลีกเลี่ยงผลไม้เหล่านี้เพราะบูดง่ายในลำไส้ อาจเกิดการอักเสบในระบบทางเดินอาหารได้

9. การไอเรื้อรังอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งเพื่อรักษาอาการหวัดไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ให้ใช้วิธีที่สุดแสนธรรมดาแต่ได้ผลมากกว่าคือ ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อลดเสมหะในทางเดินหายใจ อมยาอมให้ลำคอชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แค่นี้ก็หายแล้ว

10. การที่เราคิดว่าตัวเองมีสุขภาพดี แถมอายุยังน้อย ทำให้เราชะล่าใจในการดูแลรักษาสุขภาพ เวลาเกิดอะไรผิดปกติขึ้นกับร่างกายจะคิดว่าช่างมัน เดี๋ยวคงหายเอง ซึ่งไม่ถูกต้อง

11. เมื่อมีอาการเท้าและข้อเท้าบวมให้นั่งยองๆ ทุกวันๆ ละ 15 นาที แล้วขยับข้อเท้าไปข้างหน้าและข้างหลัง เพื่อช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น หลังจากนั้นใช้แปรงที่ขนทำจากวัสดุธรรมชาติ แปรงผิวหนังเบาๆ เริ่มบริเวณฝ่าเท้าซึ่งเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาททั่วร่างกาย แล้วค่อยๆ ปัดไล่ขึ้นมาที่ข้อเท้า น่อง ต้นขา ท้อง แขนไปจนสุดที่มือทั้งสองข้าง (ยกเว้นผู้ที่เป็นเบาหวาน เพราะเสี่ยงจะเกิดบาดแผล) จากนั้นอาบน้ำอุ่นแล้วตามด้วยน้ำเย็น จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

12. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและรับประทานไข่มากกว่าอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากขึ้น13. ผู้ที่รับประทานไข่เป็นเวลา 8 อาทิตย์ลดน้ำหนักได้มากกว่าผู้ที่ไม่รับประทานถึง 65 เปอร์เซ็นต์ และรอบเอวลดลงเกือบสองเท่า เพราะผู้ที่รับประทานไข่รู้สึกอิ่มกว่าการรับประทานขนมปัง ทำให้รับประทานอาหารกลางวันและอาหารเย็นน้อยลง

14. การรับประทานอาหารไปดูหนังไปทำให้รับประทานอาหารมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าจะกินอิ่มมาแล้วหรือรสชาติของอาหารไม่ได้เรื่องเลยก็ตาม นอกจากนี้ไฟสลัวๆ ทำให้ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ค่อยระวังตัว เพลิดเพลินเจริญอาหารไปเรื่อย

15. เสียงเพลงมีอิทธิพลต่ออารมณ์ของคนเรา ยิ่งดนตรีมีจังหวะเร็วเท่าไรก็ยิ่งกระตุ้นให้รับประทานอาหารมากขึ้นเท่านั้น

16. การดื่มน้ำ(เปล่า)เย็น 50 ออนซ์ (8 ออนซ์= 1 ถ้วย) จะช่วยเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นวันละ 50 แคลอรี เท่ากับช่วยให้น้ำหนักลดลงปีละ 5 ปอนด์หรือ 2.5 กิโลกรัม เพราะการดื่มน้ำเปล่าไม่ทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน แต่ต้องใช้พลังงานในการเผาผลาญน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นน้ำเย็นทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานเผาผลาญมากขึ้นอีก

17. การออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนักและพิลาทิส ควบคู่กันไปจะช่วยพัฒนาความแข็งแรงของปอดและหัวใจ รวมถึงความแข็งแรงและยืดหยุ่นของโครงสร้าง และการรับประทานอาหารมื้อย่อยๆ 5 มื้อต่อวัน โดยมื้อกลางวันจะเน้นอาหารประเภทโปรตีนเพียง 1 มื้อ นอกนั้นเน้นผักและผลไม้ จะทำให้มีพลังงานที่พอเหมาะในการใช้งาน และไม่ทิ้งไขมันส่วนเกินสะสม

18. ผู้ชายที่รับประทานมะเขือเทศ ซึ่งมีไลโคปีนสูงอย่างน้อยอาทิตย์ละ 10 ผลหรือมากกว่านั้น เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยลง 45 เปอร์เซ็นต์ วิธีง่ายๆ ให้นำมะเขือเทศไปปั่นให้ละเอียดเติมน้ำมันมะกอกและนำไปปรุงสุก ความร้อนจะช่วยให้มะเขือเทศปล่อยสารไลโคปีนออกมามากขึ้น

19. รับประทานแอ๊ปเปิ้ลหนึ่งชิ้นหลังอาหาร ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำลาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดแบคทีเรียในช่องปากและช่วยให้เหงือกแข็งแรง การรับประทานสับปะรดและมะละกอก่อนอาหารประมาณ 2-3 ชิ้น ดีต่อกระเพาะอาหารเพราะมีเอนไซน์ซึ่งช่วยย่อย จึงเท่ากับช่วยให้กระเพาะย่อยอาหารมื้อหลักที่ตามลงมาได้ง่ายขึ้น

20. หากไม่อยากมีกรดในกระเพาะมากเกินไป ควรลดปริมาณการดื่มน้ำผลไม้เข้มข้น อย่างเช่นมะนาว ส้ม ส้มโอ เกรฟฟรุ๊ต หรือน้ำมะเขือเทศสดปั่น หรือทำให้เจือจางด้วยการผสมน้ำเข้าไป

21. สำหรับหนุ่มเจ้าสำราญ ที่ชอบปาร์ตี้หามรุ่งหามค่ำ ก็สามารถฟื้นฟูร่างกายได้ด้วยการนอนหลับให้นานหน่อย อีกวิธีหนึ่งในการดูแลตัวเองคือมีแฟนเด็ก จะได้มีแรงกระตุ้นให้เราทำตัวเด็กตาม ต้องดูดีตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอบายมุข การเที่ยวกลางคืนก็เป็นอันต้องงด

22. การเล่นเกมคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะเกมส์ที่ต้องใช้สมาธิ ช่วยให้ระบบประสาททำงานเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันโรคอัลเซเมอร์ได้ เกมอื่นๆ เช่น ปริศนาอักษรไขว้ หรือเลือกเรียนดนตรี ก็ช่วยได้เช่นกัน

23. การใช้พลาสติกใส่อาหารหรือปิดอาหาร รวมถึงใส่จานชามพลาสติกในไมโครเวฟ เพราะความร้อนจะทำให้พลาสติกปนเปื้อนในอาหาร เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม

24. ก่อนตั้งครรภ์ควรเตรียมตัวล่วงหน้าประมาณ 3 เดือน 1.ดูแลเรื่องอาหารการกิน เน้นโฟเลต แคลเซียม วิตามินต่างๆ ป้องกันอาการแพ้ท้องหรืออยากอาหารประหลาดๆ 2.ระวังเรื่องการรับประทานยาทุกชนิด อ่านฉลากให้ดี เพราะอาจทำร้ายลูกโดยไม่เจตนา 3.ทำใจให้สบาย คิดในแง่บวก 4. ออกกำลังกายที่เหมาะสม

25. ถ้ามื้อนั้นรับประทานเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก ไม่ควรรับประทานผลไม้อีก เพราะกว่าเนื้อจะย่อยหมดต้องใช้เวลานาน ทำให้ผลไม้ที่ย่อยเสร็จไปเรียบร้อยแล้วถูกกักอยู่ในกระเพาะ เกิดกรดในกระเพาะอาหารได้

กรดไขมันในอาหารมีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด

กรดไขมันในอาหารมีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด มีการศึกษาวิจัยจำนวนมาก ในเรื่องผลของกรดไขมันในอาหาร ต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ปัจจุบันพบเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กรดไขมันอิ่มตัวในอาหาร จะเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลรวมในเลือด และเพิ่มระดับ LDL cholesterol ซึ่งถือว่าเป็น bad cholesterol ในขณะที่การเพิ่มกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิด polyunsaturated fatty acids (PUFA) ในอาหาร สามารถลดระดับของคอเลสเตอรอลรวมในเลือด และยังลดระดับของ LDL cholesterol ได้อีกด้วย ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องของกรดไขมัน จึงเป็นประโยชน์ในการพิจารณาบริโภคอาหาร เพื่อลดความเสี่ยง และช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตันได้เป็นอย่างดี

กรดไขมันเป็นการเรียงตัวของธาตุคาร์บ่อน โดยที่ปลายด้านหนึ่งเป็น methyl group อีกด้านหนึ่งเป็น carboxyl group ความยาวของคาร์บอนมีได้หลายตัว หากมีความยาวน้อยกว่า 6 เรียกว่า กรดไขมันสายสั้น หากมีคาร์บอนมากกว่า 12 เรียกว่ากรดไขมันสายยาว กรดไขมันเป็นสารอาหารสำคัญ ของกล้ามเนื้อหัวใจและอวัยวะภายในร่างกาย กรดไขมันส่วนที่เหลือใช้ จะถูกสะสมในรูปไตรกลีเซอไรด์ซึ่งจะสะสมเป็นไขมันในร่างกาย กรดไขมันอิ่มตัว หมายถึง กรดไขมันที่มีธาตุคาร์บอนต่อกันด้วยพันธะเดี่ยวเท่านั้น การรับประทานอาหารไขมันชนิดอิ่มตัว จะทำให้ไขมันในเลือดสูง และเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดตีบ แหล่งอาหารของไขมันอิ่มตัวได้แก่ น้ำมันปาล์ม กะทิ เนย นม เนื้อแดง ช้อกโกแลต

กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เรียกว่า monounsaturated fatty acid (MUFA) เป็นกรดไขมันที่มีธาตุคาร์บอนต่อกันด้วยพันธะคู่เพียงหนึ่งตำแหน่ง การรับประทานอาหารไขมันประเภทนี้ ทดแทนไขมันอิ่มตัวจะช่วยลดระดับ LDL Cholesterol ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบ อาหารที่มีกรดไขมันชนิด MUFA ได้แก่ อะโวคาโด ถั่ว น้ำมันมะกอก ส่วนกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน เรียกว่า polyunsaturated fatty acid (PUFA) หมายถึง กรดไขมันที่มีธาตุคาร์บอนต่อกันด้วยพันธะคู่อยู่หลายตำแหน่ง หากรับประทานแทนไขมันอิ่มตัว จะไม่เพิ่มระดับไขมันในร่างกาย อาหารที่มีไขมันชนิด PUFA ได้แก่ น้ำมันพืชทั้งหลาย เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง

อาหารประเภทไขมันมีส่วนสำคัญ ที่ทำให้เกิดหลอดเลือดแข็ง ขาดความยืดหยุ่น อันจะนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน มีผลทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาหารการกินที่พึงระวัง และปฏิบัติตามมีดังต่อไปนี้ ประเภทอาหารเนื้อสัตว์ ควรรับประทานปลาทุกชนิด เนื้อสัตว์ที่ควรรับประทานแต่น้อย ได้แก่ เนื้อวัว ลิ้นวัว ไข่เป็ด ไข่ไก่ หรือเนื้อไก่ และชนิดที่ไม่ควรรับประทาน ได้แก่ หมูติดมัน ไส้กรอกแฮม ห่าน เป็ด ไก่ เครื่องใน เช่น สมอง และตับ

อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ควรรับประทาน ข้าวสาร ข้าวโพด ข้าวเหนียว ก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี สปาเกตตี้ ขนมปัง อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ที่อาจรับประทานแต่น้อย ได้แก่ บะหมี่ แคร็กเก้อร์ ข้าวโพดคั่ว ประเภทถั่วและนม ควรรับประทาน ถั่วเขียว ถั่วดำ เต้าหูขาว เต้าหูเหลือง ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วลันเตา นมถั่วเหลือง ลูกเดือย อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ควรรับประทานแต่น้อย ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสงต้ม นมวัว และนมแพะ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ควรรับประทาน ได้แก่ ถั่วลิสงคั่ว และมะม่วงหิมพานต์ ส่วนอาหารประเภทไขมัน รับประทานแต่น้อย ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันรา นมถั่วเหลือง ไม่ควรรับประทาน ได้แก่ น้ำมันหมู ไขมันสัตว์ น้ำกะทิ และเนยสด สำหรับพวกผักผลไม้ มีไขมันน้อยกว่าร้อยละหนึ่ง จึงรับประทานมากๆ ได้แต่ต้องระวังผลไม้ที่มีรสหวานจัด ส่วนวิธีการปรุงอาหาร สมควรที่จะเปลี่ยนเป็น อบ ย่าง หรือ นึ่ง เพื่อลดปริมาณของไขมันที่จะบริโภค

การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ เป็นรากฐานสำคัญของการป้องกัน และรักษาภาวะคอเลสเตอรอลสูงในเลือด ดังนั้น ทุกท่านควรเข้าใจถึง แนวทางในการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง เพื่อควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และต้องมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติให้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง หลีกเลี่ยงโรคร้ายต่างๆ ซึ่งมีภาวะคอเลสเตอรอลสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหัวใจขาดเลือด หลักการบริโภคอาหารที่สำคัญ เพื่อป้องกัน และลดระดับคอเลสเตอรอลสูงในเลือด ประการแรกคือ รับประทานคอเลสเตอรอล ไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม คอเลสเตอรอลมีเฉพาะในอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น มีมากในอาหารบางชนิด เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ มันสัตว์ สัตว์น้ำบางชนิด จึงควรหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารเหล่านี้ ในปริมาณมาก รับประทานอาหารในแต่ละวัน ซึ่งให้พลังงานรวมแล้วเพียงพอ ต่อการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยผู้ใหญ่ควรมีดัชนีความหนาของร่างกายประมาณ 20-25 กิโลกรัม/ตารางเมตร โดยคำนวณจากน้ำหนักตัว หน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตร ยกกำลังสอง

หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ ไขมันจากสัตว์ หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ที่มีมันติดมากๆ เช่น หมูสามชั้น เพราะกรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น การรับประทานอาหารที่ให้กรดไขมันไลโนเลอิก (linoleic acid) โดยสม่ำเสมอ ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 50 ในน้ำมันพืชบางชนิด เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด การรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันไลโนเลอิกประมาณร้อยละ 7-10 ของพลังงานที่ได้รับ เช่น วันหนึ่งต้องการพลังงาน 2000 กิโลแคลอรี่ ควรได้กรดไลโนเลอิกประมาณ 16-22 กรัม ซึ่งได้จากน้ำมันถั่วเหลืองประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ เพราะมีการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลที่ตับเพิ่มขึ้น



แหล่งข้อมูล : www.Bangkokhealth.com